หนังสือเก่าเป็นหนังสือหายาก (Rare Books) ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่ามาก เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับการค้นคว้าวิจัย เป็นเอกสารปฐมภูมิ (Primary Source) ในด้านประวัติและการพัฒนาการของการพิมพ์ ทั้งลักษณะรูปเล่ม ตัวอักษร และรูปแบบอื่นๆ หนังสือเก่าหรือหนังสือหายากไม่สามารถหาอ่านได้ในห้องสมุดทั่วๆ ไป และไม่สามารถหาซื้อได้จากสำนักพิมพ์หรือร้านขายหนังสือทั่วไปด้วย หนังสือเก่าบางประเภทมีราคาสูงมากทัดเทียมกับของที่มีค่าอื่นๆ ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีผู้สนใจหนังสือหายากหรือหนังสือเก่าเป็นจำนวนมาก
หนังสือราชกิจจานุเบกษา เป็นสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลประเภทวารสารฉบับแรกของไทย พิมพ์เผยแพร่แก่บรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๑ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และได้มีการหยุดพิมพ์ไปในช่วงเวลาหนึ่งแต่ก็กลับมาพิมพ์เผยแพร่ต่อเนื่องในเวลาต่อมา จนถึงทุกวันนี้ นับเป็นสิ่งพิมพ์ของไทยที่มีอายุยาวนานที่สุด
หนังสือราชกิจจานุเบกษา เป็นเอกสารสำคัญยิ่งของบ้านเมืองในทางประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอักษรศาสตร์ และยังเป็นเอกสารอ้างอิงที่สำคัญของทางราชการ และประชาชน
ในปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดพิมพ์โดยแบ่งหนังสือราชกิจจานุเบกษาออกเป็น ๔ ประเภท คือ
ประเภท ก ฉบับกฤษฎีกา ลงประกาศเกี่ยวกับกฎหมาย
ประเภท ข ฉบับทะเบียนฐานันดร ลงประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญราชการและยศ
ประเภท ค ฉบับทะเบียนการค้า ประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท
ประเภท ง ฉบับประกาศทั่วไป เป็นประกาศเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุในประเภท ก - ค
หนังสือราชกิจจานุเบกษา ทั้ง ๔ ประเภท จะมีกำหนดออกฉบับปกติต่างกันและจะออกตอนพิเศษสำหรับเรื่องที่มีความจำเป็นและความเร่งด่วนด้วย
หนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ จะออกในวาระที่มีเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง เช่น ราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี (พ.ศ.๒๕๒๕) ราชกิจจานุเบกษา ฉบับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฯลฯ
ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษดังกล่าว ในปัจจุบันกรมศิลปากร โดยกองจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่รวบรวมเรียบเรียงแล้วมอบต้นฉบับให้สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีจัดพิมพ์เผยแพร่
ผู้สนใจหนังสือราชกิจจานุเบกษาบอกรับเป็นสมาชิก หรือซื้อได้ที่สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี (ในบริเวณโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเดิม ถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ หรือหาอ่านได้ที่ หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
หนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเอกสารอ้างอิงที่สำคัญ และเป็นหลักฐานสำคัญเพื่อประกอบในการยื่นคำร้องของสิทธิบางอย่างของทางราชการ ดังกล่าวข้างต้น หอสมุดแห่งชาติได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการเก็บรักษา อนุรักษ์ และการให้บริการ จึงได้เก็บรวบรวมและรักษาราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เล่มแรกจนถึงปัจจุบัน และให้บริการดังนี้
- ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๐๑ และฉบับพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๕๙ ให้บริการการอ่านจากไมโครฟิล์ม
- ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๔๖๐ - ปัจจุบัน ให้บริการจากรูปเล่มหนังสือโดยตรง
(ลำดวน เทียมฆนิธิกุล บรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติ ค้นคว้าเรียบเรียง)
ที่มา http://www.sakulthai.com/
ป้ายกำกับ: ราชกิจจานุเบกษา, หนังสือราชกิจจานุเบกษา